วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

วัดสวนดอก


วัดสวนดอกหรือวัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร วัดสวนดอกในอดีตนั้นเป็นสวนดอกไม้ ของเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์เม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1914  พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งรายทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น "พระอารามหลวง" เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระมหาเถระสุมน" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน "พระบรมสารีริกธาตุ" 1 ใน 2 องค์ ที่ "พระมหาเถระสุมน" อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ต่อมาในปีพ.ศ. 2429 ในสมัยราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอกมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์เม็งรายบ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่าอีกทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอกได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือและประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด     ภายในวัดสวนดอกแห่งนี้ยังมีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่เก่าแก่และสวยงามมากมาย เช่นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาซึ่งเป็นพระเจดีย์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งราย พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วาและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง หรือประมาณ 9 พันชั่ง ในสมัยพระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์เม็งราย เมื่อปี พ.ศ. 2047 พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร วัตถุประสงค์ของการสร้างพระเจ้าเก้าตื้อเพื่อเป็นองค์พระประธานในวัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ พระญาเมืองแก้วจึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร และพระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ" แทน ซึ่ง ต่อมาภายหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้พระเจ้าเก้าตื้อเป็นโบราณสถานแห่งชาติด้วยเช่นกันพระพุทธปฏิมาค่าคิงเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา พ.ศ. 1916 หล่อด้วยทองสำริด ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสองเมตรครึ่ง  ธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 และซุ้มประตูวัด จำนวน 3 ซุ้ม เป็นซุ้มประสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2474 นอกจากนี้ที่วัดสวนดอกไม้แห่งนี้ยังมีประเพณีประจำปีซึ่งจัดขึ้นทุกปีได้แก่ประเพณีทำบุญสลากภัต ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือเดือน 11 ประเพณีตั้งธรรมหลวง หรือฟังเทศน์มหาชาติ หลังออกพรรษาแล้วทุกปีและประเพณีทำบุญสรงน้ำพระบรมธาตุ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น